โรงเรียนเกษมพิทยา
KASEM PHITHAYA SCHOOL.

โรงเรียนเกษมพิทยารับสมัครนักเรียนระบบออนไลน์ประจำปีการศึกษา 2567
โรงเรียนเกษมพิทยารับสมัครนักเรียนระบบออนไลน์ประจำปีการศึกษา 2567

ความเป็นมาและวิสัยทัศน์





ประวัติความเป็นมา

         โรงเรียนเกษมพิทยาจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2504 โดยนายเกษม สุวรรณดี ผู้ก่อตั้งโรงเรียน ซึ่งมีอุดมการณ์ที่จะจัดการศึกษาให้กับเยาวชนของชาติให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม ทั้งนี้เพื่อสร้างความพร้อมให้กับนักเรียนที่จะเป็นเยาวชนที่ดีของครอบครัว สังคมและประเทศชาติในอนาคตต่อไป

         ในการก่อตั้งระยะเริ่มแรก มีเพียงอาคารเรียนเป็นเรือนไม้หลังแรก จำนวน 5 ห้องเรียน และต่อมาในปีเดียวกันได้ขยายอาคารเรียนเพิ่มอีก 1 หลัง รวมอาคารเรียน 2 หลัง มีห้องเรียนจำนวน 10 ห้องเรียน เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 โดยเปิดรับนักเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ประถมศึกษาปีที่ 7 จำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 450 คน ต่อมาเมื่อได้รับความไว้วางใจจากชุมชนจึงได้มีการพัฒนาและขยายจำนวนชั้นเรียนมากขึ้น จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 และในปีการศึกษา 2533 ได้เปิดรับนักเรียนในระดับชั้นอนุบาลเป็นปีแรก โดยมีดร.วรนาท รักสกุลไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการศึกษาปฐมวัย เป็นผู้อำนวยการแผนกอนุบาล เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ปกครองที่ประสงค์ที่จะให้โรงเรียนวางรากฐานตั้งแต่ระดับอนุบาล และเมื่อปี 2540 ได้เปิดโปรแกรมเรียนรวมสำหรับนักเรียนที่มี ความต้องการพิเศษให้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข

         ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี ที่โรงเรียนเกษมพิทยาจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานภายใต้การบริหารจัดการของดร. วัลลภ สุวรรณดี ผู้รับใบอนุญาต และนางศรีวรรณ สายฟ้า ผู้อำนวยการโรงเรียนเกษมพิทยา ในฐานะทายาทนายเกษม สุวรรณดี ผู้ก่อตั้งโรงเรียนได้บริหารจัดการโรงเรียนเกษมพิทยาตามอุดมการณ์ของผู้ก่อตั้งโรงเรียน ซึ่งมีผลการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนเกษมพิทยาดังจะเห็นได้เป็นที่ประจักษ์รวมทั้งรางวัลดีเด่นในด้านต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ รางวัลพระราชทานระดับก่อนประถมศึกษาปีการศึกษา 2542 ระดับประถมศึกษาปีการศึกษา 2547 และ ปีการศึกษา 2552 ได้รับรางวัลสถานศึกษาดีเด่นด้านพลังงานระดับ 5 ดาว จากการไฟฟ้านครหลวง 3 ปีซ้อน และรางวัลได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้ได้รับรางวัลพระราชทานรางวัลเกียรติคุณสัญญา ธรรมศักดิ์ ในฐานะสถานศึกษาที่ให้ความสำคัญเรื่องคุณธรรมจริยธรรม

         โรงเรียนเกษมพิทยาได้ดำเนินการจัดการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยสืบสานความมุ่งมั่นตั้งใจและอุดมการณ์ของนายเกษม สุวรรณดี มีการสืบทอดต่อทายาทรุ่นที่สาม โดยมี รองศาสตราจารย์ดร.ยศวีร์ สายฟ้า และนายชยพงศ์ สายฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นนักวิชาการและนักการศึกษาคนรุ่นใหม่ทำหน้าที่บริหารโรงเรียน จนทำให้โรงเรียนเกษมพิทยาเป็นสถานศึกษาที่จัดและส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนด้วยความเสมอภาค เท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อวางพื้นฐานทั้งวิชาการและจริยธรรมที่เข้มแข็งในตัวเด็กและเยาวชนเพื่อให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ มีความสุข ในสังคมปัจจุบันและอนาคต



ปรัชญาของโรงเรียน

“มุ่งสร้างรากฐานทางวิชาการและจริยธรรม”



อัตลักษณ์

“มารยาทงาม เปิดใจรับความหลากหลาย”



วิสัยทัศน์

“สถานศึกษาที่พัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในสังคมดิจิทัล เป็นผู้เรียนรู้จนเกิดสมรรถนะจากการลงมือปฏิบัติภายใต้บรรยากาศที่เป็นมิตรในการทำงานร่วมกันระหว่างบ้านและโรงเรียน”



พันธกิจ

1.   จัดกิจกรรมเสริมสร้างสมรรถนะร่างกายและจิตใจให้มีความสมดุลตามวัย

2.   พัฒนาระบบดิจิทัลให้สามารถรองรับการจัดการสอนของครู การเรียนรู้ของนักเรียนทั้งนักเรียนปกติและนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ

3.   พัฒนาครูให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญในการนำหลักสูตรฐานสมรรถนะสู่ห้องเรียนในทุกระดับชั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.   นิเทศ กำกับ ติดตาม การบริหารจัดการชั้นเรียนของครูในการสร้างการเรียนรู้อย่างมีความสุขให้แก่นักเรียนทุกคน

5.   พัฒนาแนวทางความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายในระบบดิจิทัล ในการให้บริการ การอำนวยความสะดวก แก่ผู้ปกครองด้วยการสื่อสารระหว่างบ้านและโรงเรียนในหลายช่องทางอย่างใกล้ชิดและมีความเป็นปัจจุบัน



กลยุทธ์

1.   พัฒนานักเรียนนักเรียนปกติ และนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษให้มีศักยภาพ มีทักษะจำเป็นในโลกยุคดิจิทัล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรียนรู้อย่างมีความสุข และมีคุณลักษณะตามบรรทัดฐานที่ดีของสังคมไทย

2.   พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการชั้นเรียน การนำหลักสูตรฐานสมรรถนะสู่ห้องเรียน การใช้สื่อดิจิทัลประกอบการสอน การวัดและการประเมินผลการเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.   พัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนที่สามารถสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง ด้วยวิธีการสอนสมรรถนะเชิงรุก (Active Learning) เพื่อให้เป็นพื้นฐานสู่การเป็นนวัตกร

4.   พัฒนาและบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาให้รองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในอนาคต ที่สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนและผู้ปกครอง ตลอดจนกรอบมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพชั้นสูงของสังคมไทยและประเทศ ASEAN

5.   บริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ด้วยการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมดิจิทัล นิเทศ กำกับ ติดตามและประเมินการพัฒนาและยกระดับคุณภาพสู่ความก้าวหน้าที่ยั่งยืน

6.   พัฒนาสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนให้เกิดบรรยากาศแห่งความเป็นมิตรที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ ทักษะสังคมของผู้เรียน รวมทั้งพัฒนาช่องทางการสื่อสารด้วยระบบดิจิทัล การให้บริการที่สามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้ปกครองในการติดต่อสื่อสารกับโรงเรียนที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

7.   ส่งเสริมความร่วมมือการเป็นหุ้นส่วนการศึกษาในการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน เพื่อเสริมสร้างค่านิยมที่ดี การพึ่งพาแบ่งปัน และการยอมรับความแตกต่างหลากหลายของสังคมไทย